ท่อน้ำร้อน โดยทั่วไปจะต้องทนอุณหภูมิขณะใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 95 องศา C น้ำที่ต้มจนเดือดมีอุณหภูมิประมาณ 100 องศา C เมื่อมีการส่งไปตามท่อ อุณหภูมิของน้ำร้อนจะลดลง ขึ้นกับระยะทางและความร้อนสูญเสียระหว่างทาง อุณหภูมิที่ต้องการขึ้นกับการใช้งาน เช่น ถ้าใช้อาบมักออกแบบให้มีอุณหภูมิ 60 องศา C เพื่อผสมกับน้ำเย็นปรับตามความต้องการของแต่ละคน ถ้าใช้ซักผ้ามักจะออกแบบเป็น 80 องศา C ท่อที่เหมาะสำหรับขนส่งน้ำร้อนมีอยู่มากมายหลายชนิด ในที่นี้จะขอเน้นเฉพาะ ท่อน้ำร้อน ที่มีการใช้งานบ่อยในประเทศไทย ดังนี้
- ท่อเหล็กกัลวาไนซ์ เป็นท่อเหล็กชุบสังกะสีเพื่อชะลอการเกิดสนิม ข้อต่อเป็นแบบขันเกลียว เป็นท่อที่นิยมใช้มากในอดีต ทั้งท่อน้ำร้อน และท่อน้ำเย็น ข้อดีคือ แข็งแรง ทนแรงกระแทกได้ดี ข้อเสียคือ ต้องหุ้มฉนวนเพื่อลดการสูญเสียความร้อน อายุใช้งานต่ำ จะเริ่มเกิดสนิมเมื่อใช้งานไปไม่กี่ปี ผิวในเริ่มขรุขระ และบวม ทำให้อัตราการไหลของน้ำลดลง เมื่อใช้งานต่อไปนานขึ้น น้ำจะเริ่มรั่วตามข้อต่อและท่อ จนต้องทยอยเปลี่ยนท่อใหม่
- ท่อเหล็กบุพลาสติก เป็นพัฒนาการเพื่อแก้ปัญหาการเกิดสนิมของท่อเหล็กกัลวาไนซ์ โดยนำท่อเหล็กกัลวาไนซ์มาบุพลาสติกไว้ชั้นใน ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะบุด้วยพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีน (พีอี) ผิวนอกเป็นเหล็กกัลวาไนซ์ มีทั้งที่เป็น ท่อน้ำร้อน และท่อน้ำเย็น ข้อดีคือ แข็งแรง ทนแรงกระแทกได้ดี ไม่เกิดสนิมที่ผิวในของท่อ ข้อเสียคือ ราคาแพง ติดตั้งยุ่งยาก ต้องต๊าบเกลียว ซ่อมแซมยาก อาจเกิดสนิมที่ผิวนอกของท่อได้ ขึ้นกับคุณภาพในการชุบสังกะสีและสภาพแวดล้อม เช่น กรณีฝังดินบริเวณที่มีความชื้นสูงและมีสภาพเป็นกรด ก็จะผุกร่อนเร็วมาก
- ท่อทองแดง ข้อต่อมีทั้งแบบการบานท่อ (บานแฟร์) แล้วขันอัดด้วยข้อต่อเกลียว และการเชื่อมด้วยแก๊สโดยใช้ลวดเชื่อม บ้านเรานิยมใช้เป็นท่อน้ำร้อนและท่อแอร์ ข้อดีคือ เป็นสนิมได้ยาก แข็งแรง ทนแรงดัน ข้อเสียคือ ราคาแพงมาก ต้องมีการหุ้มฉนวนเพื่อลดการสูญเสียความร้อน การเดินท่อต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญสูง โดยเฉพาะการเชื่อมด้วยแก๊ส มิฉะนั้น จะเสี่ยงต่อการรั่วซึมเมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง เป็นสนิมได้บ้างโดยเฉพาะเมื่อเจอกับสารซัลเฟอร์
- ท่อ PAP (Plastic-Aluminium-Plastic) เป็นท่อหลายชั้น ประกอบด้วยชั้นนอกสุดและในสุดเป็นพลาสติก ชั้นกลางเป็นอลูมิเนียม เป็นการผสมผสานเอาข้อดีของโลหะและพลาสติกมารวมกัน ข้อต่อมีทั้งแบบขันเกลียวและบีบอัด มีทั้งท่อน้ำร้อน ท่อน้ำเย็น และท่อแก๊ส ข้อดีคือ การเดินท่อทำได้ง่ายและรวดเร็วมาก สามารถทำเป็นงาน DIY ได้ ท่อดัดโค้งงอได้ด้วยมือเปล่า ดัดแล้วคงรูปไม่ดีดตัวกลับ ท่อมาเป็นม้วน ทำให้ประหยัดข้อต่อ ทนแรงดัน ทนแรงกระแทกได้ดี ไม่เป็นสนิม เป็นฉนวนในตัว ชั้นอลูมิเนียมป้องกันการซึมผ่านของแก๊สได้ดีมาก ข้อเสียคือ ข้อต่อทองเหลืองราคาแพงมาก โดยเฉพาะท่อขนาดใหญ่ (ล่าสุดจึงมีการคิดค้นข้อต่อพลาสติกขึ้นมา)
- ท่อพีพีอาร์ (PP-R) เป็นท่อพลาสติกพีพีชนิด Random Copolymer Polypropylene ข้อต่อเป็นแบบเชื่อมประสานด้วยความร้อน มีทั้ง ท่อน้ำร้อน และท่อน้ำเย็น ข้อดีคือ ท่อและข้อต่อเชื่อมประสานเป็นเนื้อเดียว ไม่รั่วซึม ทนแรงดัน ไม่เป็นสนิม เป็นฉนวนในตัว ข้อเสียคือ ทนแรงกระแทกได้ไม่มาก ถ้ามีการผสมวัสดุรีไซเคิลมากเกินไปก็จะทำให้อายุใช้งานสั้นลง การเดินท่อต้องใช้ความชำนาญ ต้องมีเครื่องเชื่อมซึ่งมีราคาแพง ถ้าคุณภาพการเชื่อมไม่ดี อาจรั่วตรงข้อต่อได้ หรือถ้าเชื่อมนานเกินไป เนื้อพลาสติกอาจปลิ้นไปอุดด้านในท่อ ทำให้อัตราการไหลลดลง
นอกจากนี้ ยังมีท่ออีกมากมาย ที่สามารถใช้สำหรับน้ำร้อนได้ แต่ไม่ได้นำมาลงไว้ในนี้ เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา เช่น ท่อซีพีวีซี (CPVC) ท่อครอสลิ้งพีอี (PEX) ท่อพีอีชนิดทนความร้อน (PE-RT) ท่อพีบี (PB) เป็นต้น ส่วนท่อน้ำที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เช่น พีวีซี (PVC) ท่อพีอี (PE หรือ HDPE) ไม่สามารถนำมาใช้เป็นท่อน้ำร้อนได้ เนื่องจากจะอ่อนตัวที่อุณหภูมิสูง ทำให้ท่อแตกรั่วได้
@MF Pipe #น้ำร้อน #ท่อน้ำร้อน