Posted on

วิธีใช้งานท่อ PAP (2)

6. ท่อ PAP และ ข้อต่อ เดินฝังในผนังได้มั้ย

ได้แน่นอนครับ จุดที่มักจะมีปัญหามากที่สุดของการเดินท่อแทบทุกชนิดคือ ข้อต่อ บวกกับอีกหนึ่งเหตุผลคือ ของเหลวหรือแก๊สที่อยู่ในท่อ มักจะเกิดความดันกระแทกได้ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Water Hammer มักเกิดจากการปิดวาล์วกะทันหัน หรือการสตาร์ทหรือหยุดกะทันหันของปั๊ม หรือกรณีเช่น เมื่อน้ำไม่ไหล หรือไหลอ่อน ทำให้มีอากาศปนอยู่ในน้ำ เป็นลักษณะโพรงอากาศ (Cavitation) ความดันไม่สม่ำเสมอ ท่อจะเกิดกระแทกหรือสั่นอย่างรุนแรง ดังนั้น การเดินท่อแบบฝัง ท่อและข้อต่อจะถูกตรึงอยู่กับที่ตลอดแนว จึงลดผลกระทบของความดันกระแทกดังกล่าวได้อย่างดี

ส่วนใหญ่เท่าที่เจอคือ ช่างปูนจะก่อผนังจนเสร็จก่อน ช่างประปาเข้างานเดินท่อภายหลัง โดยจะกรีดผนังเป็นร่องตามแนวที่จะเดินท่อ เนื่องจากกรณีท่อ PAP ที่มันดัดโค้งงอได้ ผมจึงมักจะแนะนำให้ช่างใช้ข้องอให้น้อยที่สุด แนะนำให้กรีดผนังให้มีแนวโค้งงอ ส่วนบริเวณมุมห้อง ก็กรีดลึกเข้าไปอีกนิดนึง เพื่อให้มีระยะในการตีโค้ง (แทนที่จะเป็นหักศอก 90 องศา) เวลาเดินท่อ ก็ไล่ไปตามแนวที่กรีดไว้ เอาตะปู หรืออุปกรณ์ตรึงท่อ ตอกเพื่อยึดให้ท่อแนบสนิทกับร่องที่กรีดไว้ (เพราะถ้าไม่แนบสนิท เวลาโบกปูนปิด ด้านหลังท่ออาจจะมีช่องว่างหรือเป็นโพรง)

เดินท่อน้ำร้อนและ ข้อต่อ ฝังในผนัง
เดินท่อ PAP และ ข้อต่อ ฝังในปูน

ผมเคยเจอเคสบ่อยเหมือนกัน ที่ลูกค้าผม ต้องการติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนเพิ่มเติมในบ้านเดิมที่กำลังพักอาศัยอยู่ (ไม่ได้เป็นการซื้อบ้านใหม่) เมื่อหาท่อน้ำร้อน เขาจะชอบท่อ PAP มาก เพราะทำได้เอง หรือไม่ก็ให้ช่างใกล้บ้านทำให้ โดยมักจะเอาเครื่องทำน้ำร้อนไปซ่อนไว้ใต้อ่างล้างหน้า หรือติดไว้เหนือศีรษะเกือบจะถึงเพดาน แล้วเดินท่อน้ำร้อนจากเครื่องทำน้ำร้อน ขึ้นไปในแนวดิ่งทะลุฝ้าเพดาน แล้วเดินในแนวราบซ่อนไว้บนฝ้า ซึ่งก็แทบจะไม่ต้องใช้ข้อต่อเลย เพราะสามารถดัดโค้งงอไปมาเหนือฝ้าเพดานได้ พอถึงจุดที่จะใช้งาน เช่น ตำแหน่งก๊อกผสมของฝักบัว ก็เดินท่อน้ำร้อนแนวดิ่งลงมาตรง ๆ ซึ่งก็จะสวยงาม
การเดินแบบนี้ จะกรีดผนังหรือไม่กรีดก็ได้ ถ้ากรีดผนัง พื้นที่ที่ต้องกรีดก็น้อยลง เพราะเราแบ่งการเดินในแนวนอนซ่อนไว้บนฝ้าเพดานแล้ว แต่ถ้าไม่อยากกรีดผนัง ก็สามารถใช้รางสายไฟ โดยยึดด้วยแคล้มพ์ยึดท่อเป็นช่วง ๆ เก็บให้สวยงามก็ได้ครับ

ส่วนจุดที่จะต่อกับเครื่องทำน้ำร้อน ก็แนะนำให้ใช้สายน้ำดี (ถ้าเป็นน้ำร้อน ก็เลือกแบบที่ใช้กับน้ำร้อน) หรือจะใช้ท่อน้ำร้อน PAP ท่อนสั้น ๆ ก็ได้ และติดตั้งสต๊อปวาวล์อีก 1 ตัว เหตุผลก็เพื่อให้การบำรุงรักษา หรือแก้ไขอะไรทำได้ง่าย

เดินท่อย่อยด้วยสายน้ำดีหรือท่อ PAP
เดินท่อย่อย ต่อสุขภัณฑ์หรือก๊อกผสม ด้วยสายน้ำดี หรือท่อ PAP

อ้อ…อีกเรื่องนึง ก่อนจะฉาบปูนปิด หรือปิดฝ้าเพดาน ควรมีการทดสอบว่ามีจุดรั่วซึมมั้ย โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อ โดยหาปลั๊กอุดมาปิดเกลียวในหรือเกลียวนอกทุกจุดที่เตรียมไว้สำหรับต่อสุขภัณฑ์ ซึ่งตามหลักการที่ถูกต้องคือ ต้องใช้ปั๊มทดสอบแรงดันท่อ อัดน้ำเข้าระบบ แล้วจดค่าความดันที่อ่านได้ไว้ ทิ้งไว้ที่ความดันนั้น ๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หรือตามแต่มาตรฐานที่กำหนด แล้วดูว่าความดันบนเกย์วัดความดันลดลงไปกว่าเดิมมั้ย

ปั๊มทดสอบแรงดันท่อ และ ข้อต่อ
ปั๊มทดสอบแรงดันท่อ และ ข้อต่อ

ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่มีปั๊มทดสอบแรงดันท่อ ก็ให้เติมน้ำจากระบบประปาในบ้านนี่แหละ โดยส่วนใหญ่ก็มักจะติดตั้งปั๊มน้ำไว้ ซึ่งทั่วไปก็มีความดัน 2-4 บาร์ แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างบ้านใหม่ ยังไม่ได้ซื้อปั๊มน้ำ ก็เติมน้ำจากแหล่งเท่าที่มี เช่น ต่อสายยางของน้ำที่ใช้ในโครงการ (ระวังอย่าให้มีขี้โคลนเข้าไปในระบบด้วยนะครับ) หาจุดเกลียวในหรือเกลียวนอก ต่อด้วยข้อต่อหางไหล แล้วก็เอามาต่อสายยาง อัดน้ำเข้าไปในระบบ ทีนี้ก็ไล่เช็คตามเส้นท่อ โดยเฉพาะจุดตรงข้อต่อ ว่ามีน้ำรั่วซึมหรือเปล่า

อันที่จริงการทดสอบน้ำรั่วก่อนการฉาบปูนปิดหรือปิดฝ้าเพดาน ก็ควรทำกับท่อทุกชนิด ไม่เฉพาะท่อ PAP ครับ

7. แล้วถ้าเดินลอยล่ะ ทำได้มั้ย

ได้เช่นกันครับ แต่ต้องมีการยึดตรึงท่อกับผนังหรือพื้นไว้ เพื่อรองรับการสั่นสะเทือนของท่อ ที่อาจจะเกิดขึ้นจาก Water Hammer หรือ Cavitation ที่กล่าวถึงไปในข้อก่อนหน้านี้ โดยใช้แคล้มพ์ยึดท่อ หรือวัสดุอะไรก็ได้ ที่ตรึงท่อให้อยู่กับที่ โดยยึดท่อจุดที่ใกล้กับข้อต่อราว 10-30 ซม. ส่วนที่เป็นท่อก็ยึดทุก ๆ ประมาณ 1 เมตรตามความเหมาะสมของหน้างาน


กรณีที่เป็น ท่อน้ำร้อน ท่อ PAP จะได้ประโยชน์จากความเป็นฉนวนของชั้นพลาสติกพีอีที่อยู่ข้างในและข้างนอก แต่ก็มีการสูญเสียพลังงานบ้าง ซึ่งถ้าต้องการให้เกิดการสูญเสียพลังงานให้น้อยที่สุด (ซึ่งจะมีนัยสำคัญมากสำหรับเมืองหนาว) ก็แนะนำให้หุ้มด้วยฉนวนอีกชั้นนึง

ไม่ควรเดินท่อ PAP ใกล้แหล่งความร้อน ต้องห่างจากเตาไฟไม่น้อยกว่า 400 มม. หรืออุณหภูมิผิวนอกท่อไม่เกิน 40 ºC ไม่เดินท่อเหนือเตาไฟหรือแหล่งความร้อน ไม่ควรเดินท่อเข้าไปในปล่องควัน

กรณีเดินท่อนอกอาคารและโดนแสงแดดส่อง ด้วยจุดเด่นของท่อ PAP ที่มี 3 ชั้น ทำให้เราสามารถออกแบบให้แต่ละชั้นมีคุณสมบัติตามต้องการได้ พลาสติกพีอีชั้นนอกของ MF Pipe ได้ใส่สารป้องกันรังสียูวีไว้แล้ว จึงทนแดดได้ดี อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นธรรมชาติของพลาสติก เมื่อโดนแสงแดดเป็นสิบ ๆ ปี ผิวนอกจะเริ่มเปลี่ยนสี และอาจจะเริ่มกรอบ (แต่จะเป็นแต่ผิวบาง ๆ ถ้าเราเอามีดขูดลึกเข้าไป เนื้อข้างในก็ยังดีอยู่) ดังนั้น เพื่อยืดอายุการใช้งานของท่อ ควรหุ้มท่อและข้อต่อด้วยฉนวนอีกชั้นนึง เช่น สอดเข้าไปในท่อพีวีซี ซึ่งถ้าเป็นกรณีท่อน้ำร้อน ก็เป็นการลดการสูญเสียความร้อนได้อีกด้วย

คลิ๊ก กลับไปอ่าน วิธีการใช้งานท่อ PAP ตอนที่ 1 (ทั้งหมด 2 ตอน)