รายละเอียด
ท่อลม (อากาศอัด) ท่อน้ำ
ท่อ PAP MF สีขาว
ความดันใช้งานสูงสุด 10-16 บาร์ (150-230 PSI)
อุณหภูมิใช้งานสูงสุด 60 °C
ขนาด 2025 (25 มม.)
เทียบเท่าท่อ 3/4″ (6 หุน)
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน (ID) 20 มม.
เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก (OD) 25 มม.
เทียบกับท่อทั่วไปคือ ขนาด 3/4″ (6 หุน)
ขนาดตามในมาตรฐาน ASTM F1282 คือ 3/4″ (6 หุน)
ท่อ PAP สีขาว ของ MF Pipe ใช้สำหรับเดินท่อลม ท่อน้ำ สารเคมี ไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน เป็นต้น แรงดันใช้งานสูงสุด 10 บาร์ (ยกเว้นท่อลม)
ข้อมูลสำหรับการเดินท่อลม เพิ่มเติมดังนี้
ท่อลม PAP ยี่ห้อ MF Pipe ใช้สำหรับลมอัดที่ แรงดันสูงสุด 16 บาร์ (230 PSI) ใช้ได้ทั้งการเดินท่อลมในอาคาร (Indoor) และนอกอาคาร (Outdoor) ทั้งเดินลอย และเดินฝัง
ท่อลม PAP ผิวในเป็นพลาสติกเรียบเงา ลื่น ทำให้ลมวิ่งในท่อ แรงเสียดทานต่ำ แรงดันตกน้อยมาก (ไม่เหมือนท่อเหล็กที่ผิวในหยาบ แรงดันตกจะมากกว่า) ไม่เป็นสนิม อายุใช้งานจึงยาวนานกว่าท่อเหล็กกัลวาไนซ์ ลมที่ได้จะสะอาด เหมาะมากสำหรับการเดินท่อลมที่เป็นห้องปลอดเชื้อ (Clean Room)
ท่อลม PAP ขนาด 2025 (6 หุน) เหมาะสำหรับใช้ เดินท่อลม เป็นท่อเมนหลัก สำหรับระบบท่อลม ขนาดกลาง ตามโรงงาน อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล หรืออื่น ๆ ที่มีจุดใช้งานตั้งแต่ 5-20 จุด (ขึ้นกับประเภท หรือปริมาณลมที่ใช้ ของอุปกรณ์ลมแต่ละตัว และโอกาสที่จะใช้พร้อมกัน)
ท่อขนาด 2025 (25 มม.) มักใช้เดินท่อเมน แล้วใช้ท่อย่อยเป็นขนาด 1620 (20 มม.) โดยใช้ข้อต่อ สามทางลด T2025x1620x2025 (25*20*25mm) หรือท่อย่อยเป็นขนาด 1216 (16 มม.) ใช้สามทางลด T2025x1216x2025 (25*16*25mm)
ท่อลม PAP มาเป็นม้วน ดัดโค้งได้ ไม่ต้องใช้ข้องอ สามารถเดินท่อแบบไร้รอยต่อได้ ตัวอย่างกรณีปั๊มน้ำมัน สามารถเดินท่อเส้นเดียว จากปั๊มลม ไปยังจุดเติมลมรถ โดยการฝังดิน ฝังปูน หรือลัดเลาะไปตามคูน้ำ ไม่ต้องมีข้อต่อระหว่างทาง เป็นต้น
ตัวอย่างการเดินท่อลม จากปั๊มลม
ตัวอย่างการเดินท่อเมนขนาด 2025 และท่อย่อยขนาด 1620
ตัวอย่างการเดิน ท่อลมในโรงงาน
ตัวอย่างการเดินท่อลม
ตัวอย่างการติดตั้ง คอปเปอร์ เข้ากับ ข้องอเกลียวใน สำหรับท่อลม PAP
ข้อต่อ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มักจะใช้สำหรับ เดินท่อลม มีดังนี้
ต่อตรงเกลียวนอก (S2025x3/4″M) ใช้สำหรับ เดินท่อลม PAP ออกจากปั๊มลม หรือ ต่อกับวาล์ว หรือ อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ต่อออกมาจาก ท่อเหล็กเดิม เพื่อ เดินท่อลม เพิ่มเติม (ตรงท่อเหล็ก เตรียมเป็นสามทางเกลียวในไว้) โดยเริ่มต้นจากการเอาเกลียวนอก (ใช้เทปพันเกลียวพันให้เรียบร้อยก่อน) ขันเข้าไปที่วาล์ว ตรงปั๊มลม หรือ ถังเก็บลม หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นเกลียวใน 6 หุน (ถ้าเป็นเกลียวขนาดอื่น ก็ใช้ข้อต่อแปลงเกลียว) แล้วจึงใช้ท่อต่อกับข้อต่อ (ฝั่งที่ต่อกับท่อ ไม่ต้องพันเทปพันเกลียว) ติดตั้งตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จ
กรณีปั๊มลมแบบลูกสูบ มักจะมีล้อเคลื่อนที่ได้ หรือกรณีที่จุดที่ไปต่อลมต้นทาง เสี่ยงต่อการกระแทกแรง ๆ จนข้อต่อแบบพลาสติกอาจจะหักได้ ก็จะแนะนำให้ใช้ต่อตรงเกลียวนอกแบบทองเหลือง เพื่อความแข็งแรง โดยจะมีทั้งที่เป็นเกลียวนอก 6 หุน (S2025x3/4″M) เกลียวนอก 4 หุน (S2025x1/2″M) และเกลียวนอก 1″ (S2025x1″M)
หมายเหตุ ข้อต่อบางตัว อาจจะไม่มีในเว็บ สามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทได้
สามทาง (T2025x2025x2025) ใช้สำหรับการ เดินท่อลม เป็นท่อแขนง เพิ่มเติมจากเส้นเดิม แยกไปอีกทิศทางหนึ่ง
สามทางลด (T2025x1620x2025) ใช้สำหรับ เดินท่อลม เป็นท่อย่อย ขนาด 1620 (20 มม.) ออกจากท่อเมนหลัก ที่มีขนาด 2025 (6 หุน)
สามทางลด (T2025x1216x2025) ข้อต่อตัวนี้ เป็นข้อต่อทองเหลือง ใช้สำหรับ เดินท่อลม เป็นท่อย่อย ขนาด 1216 (16 มม.) ออกจากท่อเมนหลัก ที่มีขนาด 2025 (25 มม.)
บอลวาล์ว PAP ทองเหลือง (BV-2025×2025) ใช้ต่อท่อ PAP ขนาด 2025 (25 มม.) ทั้งสองด้าน เพื่อควบคุม เปิด-ปิดลม
บอลวาล์ว PAP ทองเหลือง (BV-2025×3/4″F) ด้านหนึ่งใช้ต่อท่อ PAP ขนาด 2025 (6 หุน) อีกด้านเป็นเกลียวใน (เกลียวประปา) ขนาด 3/4″ (6 หุน) เพื่อต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ
ข้องอ (L2025x2025) ปกติไม่จำเป็นต้องใช้ เนื่องจากท่อ PAP ดัดโค้งได้ ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของท่อชนิดนี้ ทำให้การเดินท่อลม ทำได้เร็ว ประหยัดค่าข้อต่อ ค่าแรงติดตั้ง และที่สำคัญที่สุดคือ แรงดันลมไม่ตก (ข้องอ เป็นต้นเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดแรงดันตกในเส้นท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการใช้ข้องอบนเส้นท่อเมนเป็นจำนวนมาก แรงดันก็จะยิ่งตกมาก)
การที่ท่อลม PAP ดัดโค้งได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีซัพพอร์ตยื่นออกมารับท่อ เหมือนอย่างกรณีท่อเหล็ก (เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การเดินท่อลมด้วยท่อ PAP ใช้งบประมาณที่ต่ำกว่าท่อเหล็กกัลวาไนซ์) สามารถใช้แคล้มป์ยึดท่อ แนบไปกับผนัง หรือคานเหล็กได้โดยตรง ดัดท่อเลี้ยวหลบเสา คาน หรือสิ่งสิ่งกีดขวางได้
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางจุดที่จำเป็นต้องใช้ข้องอ ยกตัวอย่างเช่น กรณีเดินท่อ ทะลุผนังปูน อาจต้องมีฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จำเป็นต้องใส่ข้องอ เป็นต้น
การดัดโค้งงอท่อ กรณีรัศมีความโค้งแบบกว้าง ๆ สามารถทำได้ด้วยมือเปล่า โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ เลย แต่ต้องดัดด้วยแรงที่สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการออกแรงดัดจุดใดจุดหนึ่ง มิฉะนั้น ท่ออาจจะบี้ หรือพับได้
แต่ถ้าต้องการดัดโค้งมาก ๆ (รัศมีความโค้งแคบ ๆ) ควรใช้สปริงดัดท่อช่วย โดยที่ สปริงดัดท่อ มีอยู่ 2 แบบ
1. แบบสอดในท่อ โดยการสอดสปริงเข้าไปในท่อ ไปยังจุดที่ต้องการดัดโค้ง แล้วจึงทำการดัดโค้งท่อบริเวณนั้น สปริงที่อยู่ในท่อ จะช่วยกระจายแรงดัดให้สม่ำเสมอ ทำให้ท่อยังคงรูป หน้าตัดเป็นวงกลมสวยงาม ไม่บี้หรือพับไปตามแรงดัด เมื่อดัดท่อเสร็จ ก็ให้นำสปริงออกจากท่อ
สปริงดัดท่อแบบสอดในท่อนี้ เหมาะสำหรับดัดโค้งท่อที่บริเณใกล้ ๆ ปลายท่อ หรือถัดเข้าไปจากปลายท่อไม่ไกลมากนัก (มันจะไม่เหมือนท่อร้อยสายไฟพีวีซี ที่ใส่สปริงเข้าไปแล้วจะไหลในท่อ) เนื่องจากท่อ PAP มาเป็นม้วน ใส่สปริงเข้าไปแล้ว มันจะไม่ไหล ต้องใช้มือหรือหาอะไรดันเข้าไป
กรณีต้องการดัดโค้งท่อ ช่วงกลาง ๆ (ที่ไม่ใช่ปลายท่อ) สปริงสอดในแบบนี้ จะไม่สะดวก หรือทำไม่ได้เลย จึงจำเป็นต้องใช้สปริงแบบสวมนอกท่อแทน
2. สปริงแบบสวมนอก สามารถใช้ดัดท่อลม PAP ได้ทุกช่วงของท่อ รวมถึงปลายท่อ โดยการสวมสปริงเข้ากับท่อ แล้วรูดสปริงไปตามแนวท่อ จะดัดท่อตรงบริเวณไหน ก็หยุดแล้วดัด ดัดเสร็จก็รูดสปริงต่อ ไปยังจุดใหม่ที่ต้องการดัด จนสุดปลายท่อ ก็ให้นำสปริงออกจากท่อ สปริงดัดท่อ จะช่วยกระจายแรงดัดให้สม่ำเสมอ ป้องกันไม่ให้ท่อพับ หรือบี้ จากการออกแรงดัดจุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป
สปริงดัดท่อแบบสวมนอกท่อ ใช้แทนแบบสอดในท่อได้ (แต่แบบสอดในท่อ ใช้แทนแบบสวมนอกท่อไม่ได้) จึงมีประโยชน์มาก ในการเดินท่อลมด้วยท่อ PAP สปริงแบบสวมนอกท่อนี้ จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก รองลงมาจากอุปกรณ์บานและลบมุมท่อเลยทีเดียว
อุปกรณ์บานท่อ เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับติดตั้งข้อต่อ กรณีที่มีแต่ข้อต่อ PAP ชนิดพลาสติก ก็สามารถใช้อุปกรณ์บานท่อแบบธรรมดา แบบนี้ได้
แต่ในกรณีที่มีข้อต่อ PAP ชนิดทองเหลือง หรือวาล์ว PAP ทองเหลืองด้วย ต้องใช้อุปกรณ์บานท่อและลบมุม เพื่อทำการลบคมปากท่อก่อน ป้องกันปากท่อขูดแหวนซีลซิลิโคนจนปลิ้นหรือฉีกขาด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการรั่วซึมได้
กรรไกรตัดท่อ ใช้สำหรับตัด ท่อลม PAP เพื่อให้รอยตัดตั้งฉาก และเรียบ มั่นใจได้ว่า เมื่อติดตั้งเสร็จ ลมไม่รั่วซึม
ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้เลื่อย หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ตัดท่อแล้วเป็นขุย ปลายท่อไม่เรียบ และไม่ได้ฉาก
ประแจขันข้อต่อ ใช้สำหรับขันข้อต่อ PAP ชนิดพลาสติก ประแจแบบนี้ ถูกออกแบบมาใช้สำหรับขันข้อต่อ PAP ของ MF Pipe โดยเฉพาะ ขณะออกแรงขัน จะกระจายแรงกดบนฝาเกลียวของข้อต่อ เป็น 6 จุด ทำให้งานติดตั้งมีคุณภาพ สามารถออกแรงขันได้อย่างเต็มที่ โดยที่ฝาเกลียวไม่แตก
หากใช้ประแจชนิดอื่น เช่น ประแจปากตาย ประแจเลื่อน ประแจคอม้า ถ้าปรับตั้งระยะห่างของปากประแจไม่พอดี (หลวมเกินไป) จะเกิดแรงจิกของปากประแจ บนฝาเกลียวของข้อต่อ ทำให้ฝาเกลียว อาจเข้าไม่สุด หรือถ้าเกิดแรงจิกเป็นจุด (Point Load) อาจทำให้ฝาเกลียวแตกได้
แคล้มป์รัดท่อโลหะ ทำจากอลูมิเนียมอบขาว อย่างหนา แข็งแรง และไม่เป็นสนิม เหมาะสำหรับงานเดินท่อลมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ การยึดท่อบริเวณใกล้ ๆ วาล์ว จุดใช้งานลม (เพื่อท่อจะได้ไม่โยกไปมา ขณะเปิด-ปิดวาล์ว หรือถอด-ใส่สายลม) ยึดท่อในแนวดิ่ง หรือการเดินท่อลมด้านนอกอาคาร (Outdoor) เป็นต้น
แคล้มปก้ามปูพลาสติก ใช้ยึดท่อ ช่วงกลาง ๆ ท่อ เพื่อลดต้นทุนค่าแคล้มป์ แต่ไม่เหมาะสำหรับ การเดินท่อนอกอาคาร เพราะหากโดนแดดนาน ๆ แคล้มป์ก้ามปู พลาสติกแบบนี้ อาจกรอบแตกได้